ไต้หวันรุกสิ่งทอ 4.0 ไทย
โดย...จะเรียม สำรวจ วันที่ 08 ก.ค. 2560 โพสต์ทูเดย์
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการปรับตัว เพื่อก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เห็นได้จากการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใส่ไว้ในเส้นใยของสินค้า เพื่อให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มของไทย หลังจากผู้ประกอบการนำเสื้อผ้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดพบว่า ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี จึงทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใส่ในกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่งห่ม
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเริ่มเห็นโอกาสในการเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และ หนึ่งในผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้ความสนใจเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย คือ บริษัท จีอีพี สปินนิ่ง ผู้ดำเนินธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่จากไต้หวัน
เซิ่นจุ้นซิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีอีพี สปิ่นนิ่ง กล่าวว่า จากแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความงามมากขึ้น ทำให้บริษัทเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจออกมานอกไต้หวัน ซึ่งภูมิภาคถือเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี และเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดในด้านของนวัตกรรมเส้นใยรูปแบบใหม่ๆ อย่างจริงจัง
สำหรับประเทศแรกที่บริษัท จีอีพี สปิ่นนิ่ง ให้ความสนใจเข้ามาเปิดตลาดเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนคือ ไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีความแข็งแกร่งในด้านของอุตสาหกรรมสิ่งทอ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน บริษัท จีอีพี สปิ่นนิ่ง จึงเล็งเห็นโอกาสด้วยการเปิดตัวฟิลาเจน ซึ่งแบรนด์ เส้นใยคอลลาเจนเข้ามาทำตลาด ด้วยการจับมือแบรนด์สินค้าชั้นในของไทยนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้าไปใส่ในเส้นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ในส่วนของแบรนด์สินค้าแฟชั่นและกีฬาที่บริษัท จีอีพี สปิ่นนิ่ง ได้จับมือร่วมทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้าจากนวัตกรรมของฟิลาเจน ขณะนี้ประกอบด้วย อินไนน์ บาย วาโก้, พาซาญ่า และ แกรนด์สปอร์ต ซึ่งสินค้าที่ได้เริ่มผลิตเข้ามาทำตลาดบ้างแล้วในขณะนี้คือ ชุดชั้นใน ชุดกีฬา เครื่องนอน และชุดประดับตกแต่งต่างๆ
เซิ่นจุ้นซิน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมชื่อดังจากต่างประเทศจำนวน 2 แบรนด์ เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งภายในสิ้นปี 2560 นี้คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มทำธุรกิจ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้านวัตกรรม ใหม่ เพื่อส่งออกไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศที่กำลังศึกษาและคาดว่าจะสามารถเริ่มเข้าไปทำตลาดได้ในปี 2561 คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นตลาดใหญ่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซีย หากสามารถเข้าไปทำตลาดได้ตามแผนงานที่วางไว้จะทำให้มีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปทำตลาดอาเซียนมีรายได้มากกว่าการทำตลาดในประเทศไทย
หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง เซิ่นจุ้นซิน คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2560 นี้น่าจะมีรายได้จากการทำตลาดในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ แต่หลังจากปีนี้ไปจะมีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน เพราะบริษัทมีการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง จากแนวทางดังกล่าวคาดว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท อย่างแน่นอน
เซิ่นจุ้นซิน กล่าวอีกว่า รายได้ ที่บริษัทจะได้รับในสิ้นปีนี้และปีต่อๆ ไปอาจดูน้อย เนื่องจากการทำธุรกิจ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างแบรนด์จึงจะติดตลาด ในส่วนของกลยุทธ์การทำตลาด ของบริษัทจะเน้นไปที่การสร้างความแตกต่างในด้านของนวัตกรรมสินค้า ซึ่งจากแนวทางการทำธุรกิจดังกล่าวทำให้ภาพรวมการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทยหันมาแข่งขันในด้านของนวัตกรรมมากกว่าราคา
แม้ว่าจะมีแผนการขยายธุรกิจ ไปในประเทศต่างๆ ของอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก แต่บริษัท จีอีพี สปิ่นนิ่ง ก็ไม่มีแผนที่จะสร้าง โรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทย ยังคงใช้โออีเอ็มในการผลิตสินค้าเพื่อความคล่องตัว
ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/502003
โมเดล BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Read more